เรียกได้ว่าเป็นประเด็น talk of the town เลยก็ว่าได้นะครับ กับกรณีการเรียกเก็บ ภาษีคริปโต จากผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล ในบทความนี้ทาง Cryptocup ก็ไม่พลาดที่จะสรุปข้อมูลเกี่ยวกับภาษีคริปโตที่ดูจะเข้าใจยาก ให้ออกมาง่ายเหมือนจับมือทำ แบบจบครบทุกประเด็นความสงสัย ว่า ใครจะต้องเสียภาษีคริปโตบ้าง วิธีการคำนวณภาษี แบบที่ต้องยื่น และกรณียกเว้นที่ไม่เข้าข่ายในการเสียภาษีมีอะไรบ้าง ไปเริ่มกันเลยครับ
1. การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล
จัดเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90
2. การขุดคริปโตเคอร์เรนซี
ณ วันที่ได้รับคริปโตเคอร์เรนซีจากการขุด ยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีที่ขุดมาได้ จึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้ขุดต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุน เช่น ค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้าค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี เป็นต้น ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90
3. การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง
พนักงานได้รับเงินเดือนเป็นคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท40(1)
ผู้รับจ้างได้รับค่าจ้างเป็นคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ผู้มีเงินได้กรณีนี้ ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40(2) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91
4. คริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล จากการให้หรือได้รับเป็นรางวัล
ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90
5. ได้รับผลประโยชน์ หรือผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี
5.1 โทเคนดิจิทัล
ตัวอย่างเช่น Yield farming หรือ Staking เป็นต้น
ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ)
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90
5.2 คริปโตเคอร์เรนซี
ตัวอย่างเช่น Yield farming หรือ Staking เป็นต้น
ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8)
ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90
วิธีการคำนวณต้นทุนในการคิดภาษีคริปโต
1. วิธีเข้าก่อนออกก่อน The first-in first-out (FIFO)
คือ การคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลโดยคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อนตามลำดับ จึงเป็นผลให้รายการคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายเป็นคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมา ครั้งหลังสุด
ยกตัวอย่างเช่น
วันที่ 1 มกราคม ซื้อคริปโต C จำนวน 1 เหรียญในราคา 100 บาท/เหรียญคริปโต ต่อมาในวันที่ 2 มกราคม ซื้อเพิ่มอีก 1 เหรียญในราคา 150 บาท
หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มกราคมได้ทำการขายเหรียญคริปโต C จำนวน 1 เหรียญ ต้นทุนที่นำมาคำนวณสำหรับเหรียญที่ขายไปนั้นคือ 100 บาท/เหรียญคริปโต
การผ่อนปรนการเสียภาษีคริปโตของกรมสรรพากร
1. สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีภาษีเดียวกันได้ ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น
2. ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย
3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
มีกรณีใดที่ได้กำไรจากการขายคริปโตฯ แล้วไม่ต้องเสียภาษีบ้าง?
1. มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียวและมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ไม่ต้องยื่นหรือเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้
2. มีรายได้จากการเทรดคริปโตฯ เพียงอย่างเดียว และมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 210,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน
3. อายุครบ 65 ปี หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และมีกำไรจากการขายคริปโตฯ ตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาท กรณีนี้ต้องยื่นแต่ไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถยื่นขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายได้เช่นกัน